เป็นเรื่องราวดีๆของประเทศไทย ที่มีบูรพาจารย์ผู้ปฏิบัติเพื่อศาสนาและ ปฏิบัติตนตามแนวทางคำสอนพระศาสดาอย่างเคร่งครัด อย่างหลวงปู่มั่น ที่หลายๆท่านนับถือ ท่านนั้นมีลูกศิษย์มากมายหลากหลายสมณจริงๆ
และเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา ยูเนสโก ประกาศ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นบุคคลสำคัญของโลก สาขาสันติภาพ
โดย นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ได้รับรายงานว่า ที่ประชุมใหญ่สมัยสามัญขององค์การยูเนสโกครั้งที่ 40 มีมติรับรองการร่วมเฉลิมฉลองในวาระครบรอบบุคคลสำคัญและเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ในวาระปี 2563 ถึง 2564 ได้ยกย่องบุคคลสำคัญ 2 รูป ได้แก่ พระอาจารย์มั่น ภูริภัตโต ครบรอบ 150 ปีชาตกาล และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ครบ 100 ปี แห่งการสิ้นพระชนม์ รัฐบาลเตรียมจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองในมิติศาสนา จัดพิธีประกาศเกียรติคุณและจัดกิจกรรมศาสนพิธี กิจกรรมทางพระพุทธศาสนาส่งเสริมสันติภาพ ร่วมกับคณะกรรมการอำนวยการจัดงาน 150 ปี ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและคณะศิษยานุศิษย์
พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นพระอาจารย์สายวิปัสสนากรรมฐาน และเป็นพระมหาเถระที่คนไทยทั้งประเทศเคารพนับถือ จนปรากฏเด่นชัด ทั้งในขณะที่ท่านยังอยู่ในสมณะและเมื่อละสังขารขันธ์ไปแล้ว ในการประกาศ ยกย่องให้พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโตและสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นบุคคลสำคัญของโลก สาขาสันติภาพ กระทรวงวัฒนธรรม จะร่วมเฉลิมฉลองกับมหาเถรสมาคม หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน โดยมอบหมายกรมการศาสนา ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อร่วมจัดกิจกรรมเพื่อเชิดชูเกียรติคุณ
หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโตหรือนามตามสมณศักดิ์ว่า พระครูวินัยธรมั่น ภูริทตฺโต (20 มกราคม พ.ศ. 2413 – 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492) เป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ชาวจังหวัดอุบลราชธานี ผู้เป็นบูรพาจารย์สายพระป่าในประเทศไทย
พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ได้ปฏิบัติตนตามแนวทางคำสอนพระศาสดาอย่างเคร่งครัด และยึดถือธุดงควัตรด้วยจริยวัตรปฏิปทางดงาม จนได้รับการยกย่องจากผู้ศรัทธาทั้งหลายว่าเป็นพระผู้เลิศทางธุดงควัตร ท่านวางแนวทางในการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนาตามหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้าให้แก่สมณะประชาชนอย่างกว้างขวาง จนมีพระสงฆ์และฆราวาสเป็นลูกศิษย์จำนวนมาก แนวคำสอนของท่านเป็นที่รู้จักกันดีในนามว่า คำสอนพระป่า (สายพระอาจารย์มั่น) หลังจากท่านมรณภาพลง ในปี พ.ศ. 2492 ยังคงมีพระสงฆ์ที่เป็นลูกศิษย์ของท่านสืบต่อแนวปฏิปทาธรรมปฏิบัติของท่านสืบมา โดยลูกศิษย์เรียกว่า พระกรรมฐานสายวัดป่า หรือ พระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ท่านได้รับยกย่องจากผู้ศรัทธาให้เป็น พระอาจารย์ใหญ่สายวัดป่า หรือ พระอาจารย์ใหญ่แห่งวงศ์พระกรรมฐานวัดป่า สืบมาจนปัจจุบัน